จิตร ภูมิศักดิ์ (25 กันยายน พ.ศ. 2473 — 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2509) เป็นนักคิดด้านการเมือง นักประวัติศาสตร์ และนักภาษาศาสตร์ นับเป็นนักปราชญ์และนักปฏิวัติทางความคิดและวิชาการคนสำคัญของประเทศไทย จิตรเป็นนักวิชาการคนแรกๆ ที่กล้าถกเถียงและคัดค้านปราชญ์คนสำคัญ ด้วยวิธีคิดที่มีเหตุผลและลุ่มลึก มีความโดดเด่นจากผลงานการค้นคว้าทางวิชาการที่แปลกใหม่และลึกซึ้ง ขณะเดียวกันจิตรยังมีความคิดต่อต้านระบบเผด็จการและการใช้อำนาจกดขี่ของชนชั้นสูงมาโดยตลอด
จิตรเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2509 หลังเข้าร่วมต่อต้านการปกครองด้วยระบบทหาร โดยถูกพวกอาสาสมัครฝั่งตรงข้ามและเหล่าทหารล้อมยิง
จิตรเป็นบุตรของศิริ ภูมิศักดิ์ กับแสงเงิน ฉายาวงศ์ มีชื่อเดิมว่า สมจิตร ภูมิศักดิ์ แต่ต่อมาเปลี่ยนเป็น จิตร เพียงคำเดียว ตามนโยบายตั้งชื่อให้ระบุเพศชายหญิงอย่างชัดเจน ของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
พ.ศ. 2479 จิตรติดตามบิดา ซึ่งรับราชการเป็นนายตรวจสรรพสามิต เดินทางไปรับราชการยังจังหวัดกาญจนบุรี และเข้ารับการศึกษาชั้นประถมที่โรงเรียนประจำจังหวัดกาญจนบุรี จนถึงปี พ.ศ. 2482จิตรย้ายมาอยู่ที่สมุทรปราการ อีก 7 เดือนบิดาก็ได้รับคำสั่งย้ายไปรับราชการในเมืองพระตะบอง ซึ่งสมัยนั้นเป็นเมืองในการปกครองของไทย (ปัจจุบันอยู่ในอาณาเขตของกัมพูชา) จิตรจึงย้ายตามไปด้วย และได้เข้าศึกษาชั้นมัธยมที่นั่น
พ.ศ. 2490 ประเทศไทย ต้องคืนดินแดนเมืองพระตะบองให้กัมพูชา จิตรจึงอพยพตามมารดากลับเมืองไทย ระหว่างที่ครอบครัวภูมิศักดิ์ ยังอยู่ที่พระตะบอง นางแสงเงินเดินทางไปค้าขายที่จังหวัดลพบุรี ขณะที่จิตรและพี่สาว เดินทางมาศึกษาต่อในกรุงเทพมหานคร โดยจิตรเข้าเรียนที่โรงเรียนเบญจมบพิตรหรือโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตรในปัจจุบัน และสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในที่สุด
บิดาและมารดาของ จิตร ภูมิศักดิ์ แยกทางกัน หลังจากนั้นหลายปีต่อมาบิดาของ จิตร ภูมิศักดิ์ ก็ได้แต่งงานใหม่กับ นางสงวน สร้างครอบครัวใหม่ที่จังหวัดสระบุรี โดยมีบุตรด้วยกัน 5 คน เป็น หญิง 4 คน และ ชาย 1 คน(คนกลาง)
พ่อของจิตร (นายศิริ) เป็นคนที่มีความคิดก้าวหน้าและถือว่าหัวสมัยใหม่มากสำหรับคนในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีใหม่ๆจากต่างประเทศเข้ามาเสมอ เช่น กล้องถ่ายรูป ทรานซิสเตอร์ ฯลฯ และไม่เคยหยุดที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ก้าวไปพร้อมกับโลกที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว วิศัยทัศน์ที่กว้างไกลของบิดาส่วนหนึ่งเป็นผลทำให้ความคิดของผู้เป็นบุตรมีความก้าวหน้าและเปิดกว้างมากกว่าเด็กในสมัยนั้น
ชื่อเสียงของ จิตร ภูมิศักด์ น่าจะโด่งดังในสาธารณชนวงกว้างเป็นครั้งแรก จากกรณี โยนบก เมื่อครั้งที่เขาเป็นสาราณียากร ให้กับหนังสือประจำปี ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2496 ในครั้งนั้นเขาได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาที่ "ซ้ำ ๆ ซาก ๆ" ของหนังสือประจำปี โดยลงบทความสะท้อนปัญหาสังคม ประณามผู้เอารัดเอาเปรียบในสังคม ซึ่งรวมถึงรัฐบาลด้วย รวมทั้งชี้ให้เห็นค่านิยมอันไม่ถูกต้อง ซึ่งผู้คนนับถือกันมานาน โดยบทความเหล่านั้น มีทั้งที่จิตรเขียนเอง ร่วมแก้ไข หรือเพื่อน ๆ คนอื่นเขียน ผลก็คือระหว่างการพิมพ์หนังสือได้ถูกตำรวจสันติบาลอายัด และมีการ "สอบสวน" จิตรที่หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเหตุการณ์นั้น จิตรถูกกลุ่มนิสิตที่นำโดยนายสีหเดช บุนนาค คณะวิศวกรรมศาสตร์ตั้งศาลเตี้ยจับ "โยนบก" ลงจากเวทีหอประชุม ทำให้จิตรได้รับบาดเจ็บต้องเข้าโรงพยาบาลและพักรักษาตัวอยู่หลายวัน ต่อมาทางมหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาโทษและมีมติให้จิตร ภูมิศักดิ์ถูกพักการเรียนเป็นเวลา 1 ปี คือในปี พ.ศ. 2497
ระหว่างถูกพักการเรียน จิตรได้ไปสอนวิชาภาษาไทยที่โรงเรียนอินทร์ศึกษา แต่สอนได้ไม่นาน ก็ถูกไล่ออกไป เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ามีหัวก้าวหน้ามากเกินไป จิตรจึงไปทำงานกับหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เอง ที่จิตรได้สร้างสรรค์ผลงานการวิจารณ์ที่มีคุณค่าต่อวงวิชาการไทยหลายเรื่อง เช่น การวิจารณ์วรรณศิลป์ วิจารณ์หนังสือ วิจารณ์ภาพยนตร์ โดยใช้นามปากกา "บุ๊คแมน" และ "มูฟวี่แมน"
ปี พ.ศ. 2498 เขากลับเข้าเรียนอีกครั้งและสำเร็จปริญญาอักษรศาสตร์บัณฑิตในปี พ.ศ. 2500 จากนั้นก็เข้าเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์และศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร จนกระทั่งถูกจับในข้อหา "สมคบกันกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายใน และภายนอกราชอาณาจักรและกระทำการเป็นคอมมิวนิสต์" เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2501 เขาถูกคุมขังอยู่จนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2507 จึงได้รับการปลดปล่อยและพ้นจากข้อหาของทางการ
เนื่องจากเขาถูกติดตามคุกคามจากทางการและเจ้าหน้าที่บ้านเมืองอย่างหนักทำให้เดือนตุลาคม พ.ศ. 2508 จิตรได้เดินทางสู่ชนบทภาคอีสาน เพื่อเข้าร่วมต่อสู้กับการปกครองด้วยระบบทหาร ในนาม สหายปรีชา ต่อมาด้วยการคุกคามจากอำนาจรัฐ จิตรถูกอดีตกำนันตำบลคำบ่อ อาสาสมัคร และทหาร ล้อมยิงจนเสียชีวิต ตายด้วยกระสุนปืนที่ทุ่งนากลางป่าละเมาะ บ้านหนองกุง ตำบลคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2509
จิตรมีความสามารถในด้านภาษาศาสตร์และนิรุกติศาสตร์อย่างมาก และยังมีความสามารถระดับสูงในด้านอื่น ๆ เช่น ประวัติศาสตร์ ถือว่าเป็นอัจฉริยะบุคคลของไทยคนหนึ่ง ในด้านภาษาศาสตร์นั้น จิตรมีความเชี่ยวชาญในภาษาฝรั่งเศส ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาเขมร โดยเฉพาะภาษาเขมรนั้น จิตรมีความเชี่ยวชาญทั้งภาษาเขมรปัจจุบันและภาษาเขมรโบราณด้วย นอกจากนี้ จิตรได้เขียนพจนานุกรมภาษาละหุ (มูเซอ) โดยเรียนรู้กับชาวมูเซอขณะอยู่ในคุกลาดยาว ในตอนแรก ชาวมูเซอไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ จิตรเองก็ไม่สามารถพูดภาษามูเซอได้เช่นกัน แต่ด้วยความสามารถ เขาสามารถเรียนรู้ระบบของภาษา และนำมาใช้ได้อย่างน่าอัศจรรย์
นามปากกาของจิตรมีเป็นจำนวนมาก เช่น นาคราช, ศูลภูวดล, ศรีนาคร, ทีปกร, สมสมัย ศรีศูทรพรรณ, ศิลป์ พิทักษ์ชน, สมชาย ปรีชาเจริญ, สุธรรม บุญรุ่ง, ขวัญนรา, สิทธิ ศรีสยาม, กวีการเมือง, กวี ศรีสยาม, บุคแมน, มูฟวี่แมน (มูวี่แมน) , ศิริศิลป์ อุดมทรรศน์, จักร ภูมิสิทธิ์